ระดับนิวรณ์
เพราะยึดติดอยู่กับประสบการณ์และเรื่องราวในอดีตมากมาย จึงปรุงแต่ง ไปตามความพอใจไม่พอใจที่ฝังไว้
ทำให้จิตหวั่นไหวทั้งในปัจจุบัน พะวงอนาคต แสดงออกเป็นนิวรณ์ทั้งห้า ตามเรื่องราวและอารมณ์นั้น
ขั้นนี้ใช้กรรมฐานมีกายานุปัสสนาเป็นหลัก เพื่อให้จิตสงบ พักการปรุงแต่ง หักนิวรณ์นั้นเสีย
ระดับสักกายทิฐิ
เมื่อจิตสงบตั้งมั่นอยู่ได้ด้วยสมถะ จิตก็ยังคงติดอยู่กับสัญญาในอดีต ปรุงแต่งบนความสงบ หลงปรากฏการณ์ภายในที่รับรู้นั้นเป็นเราเป็นของเรา ไม่ว่าจะเป็นกายของเรา รูปนามที่ปรากฏคือเราคือของเรา
ขั้นนี้ต้องใช้วิปัสสนาแยกปรากฏการณ์นั้นๆออกเป็นขันธ์ มองให้เห็นว่า ไม่ว่ารูปหรือนามที่ปรากฏ ก็ล้วนถูกแยกแยะออกเป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้งสิ้น (เห็นตามเป็นจริงที่ปรากฏ มิใช่การคิด)
เมื่อเห็นปรากฏการณ์เป็นเพียงขันธ์ ก็ต้องมองให้เห็นต่อไปว่า กองขันธ์นั้นเป็นเพียงมายา หาได้มีความเป็นเราที่แท้จริงไม่ ความเป็นเราเป็นสิ่งที่จิตปรุงขึ้นเป็นเพียงมายาขันธ์เท่านั้น (เห็นอีกเช่นกัน มิใช่การคิด)
ขั้นตอนนี้ต้องปฏิบัติไปนานๆ เพื่อรู้เท่าทันกองสังขารที่ปรากฏให้ได้หมดตั้งแต่หยาบๆ คือความเป็นเราในอายตนะ จนกระมั่งถึงความเป็นเราผู้รู้
ระดับราคะ
การที่จิตยังเกิดราคะขึ้นไม่ว่าจะเป็น กามราคะ รูปราคะ หรืออรูปราคะ นั่นเพราะจิตยังหลงอยู่ในสัญญาสังขารในอดีต ที่เคยชินที่จะหมายรูปนามขันธ์ห้านั้นเป็นสิ่งที่จริงแท้
จิตยังหลงไม่อาจมองเห็นว่า ขันธ์ห้านั้นเป็นเพียงมายาอันวางเปล่า ไม่ใช่ทั้งสิ่งที่มีอยู่จริงหรือไม่มีอยู่จริง
ดังนั้นในขั้นนี้การปฏิบัติจึงต้องอาศัยสติปัญญาที่ละเอียดอ่อนแยบคายอย่างมาก คือ
เริ่มตั้งแต่การพิจารณาการรับรู้กามทั้งห้านั้นหรือเห็นแจ้งในความจริงของการเห็น การได้ยิน……. ฯลฯ
เมื่อเห็นก็ต้องแยกแยะออกเป็นขันธ์ได้ เมื่อแยกแยะเป็นขันธ์ได้ ก็ต้องเห็นแจ้งถึงความว่างเปล่าจากตัวตน ของกองสังขารขันธ์นั้น
ปรากฏแต่ว่างเปล่า ว่างเปล่าแต่ปรากฏ
ปรากฏเป็นกลุ่มก้อนของกองสังขาร อันมีธาตุสี่ขันธ์ห้า แต่ทั้งหมดที่ปรากฏนั้น ล้วนว่างเปล่า หาความเป็นตัวตนใดๆไม่ได้
เมื่อชำนาญและตั้งมั่นในการเห็นแจ้งเช่นนี้ได้อย่างสืบเนื่อง กามราคะจะค่อยๆสลายไป
จิตไม่เกาะการเห็น สิ่งที่ถูกเห็น และผู้เห็น
เมื่อจิตพัฒนามาได้ถึงขั้นนี้ สิ่งที่จะเป็นอุปสรรคภายในต่อไปคือธรรมารมณ์ ซึ่งจะเป็นบ่อเกิดแห่งรูปราคะและอรูปราคะ
ขั้นนี้สติปัญญาต้องละเอียดแยบคายอย่างยิ่ง คือต้องมีสติรู้เท่าทันธัมมารมณ์อันเกิดขึ้นภายในในขณะนั้นๆ
ตั้งแต่หยาบไปหาละเอียด จากนามรูปเช่น ความเบา โปร่ง โล่ง กระจ่างแจ้ง ว่าง
จนถึงนามเฉยๆเช่น ความหมายหรือสัญญาต่างๆเช่น ความไม่มีอะไรทั้งสิ้น มีความหมายว่าอย่างนั้นก็ไม่ใช่ ไม่มีความหมายว่าอย่างนั้นก็ไม่ใช่ และอาการรู้ของจิตเอง
ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นผลจากสัญญาในอดีตที่มาแต่งแต้มปรากฏการณ์ในปัจจุบันที่ปรากฏ ซึ่งมักจะเป็นอาการทางธรรมทั้งสิ้นทำให้เราหลงว่าเป็นการเห็นธรรม จนไม่สามารถแจ้งได้ว่า มันเป็นเพียงมายาการของขันธ์เท่านั้น
การจะผ่านขั้นนี้ไปได้จึงเป็นสิ่งยาก เพราะความละเอียดอ่อนแยบคายของจิตไม่เพียงพอ
ดังนั้น นักปฏิบัติจึงต้องพากเพียรฝึกตั้งแต่เริ่มต้นมาให้ดี โดยเฉพาะความตั้งมั่นบนสัมมาทิฐิที่ว่า สัพเพ ธัมมา สุญญตา
เมื่อสามารถตั้งมั่นอย่างสืบเนื่องบนการเห็นแจ้งเช่นนี้ ปรากฏการณ์ จิต และความว่างจะประสานสอดคล้องกลายเป็นหนึ่งเดียว
รู้และสิ่งถูกรู้มิได้แตกต่าง
จิตขยายกว้างออกไพศาลไม่อยู่ ณ ที่ใด โดยไม่มีการไปการมา ไร้การเกิด
เป็นการประสานกันเป็นหนึ่งของความตื่นรู้อันกระจ่างแจ้งและความว่าง
จงดำรงตนอยู่เช่นนั้นเถิด โดยไร้เจตนา ไร้การกระทำ
Comments are closed