อุบาสกและอุบาสิกา พึงเป็นผู้สำรวม และตระหนักอยู่เสมอว่า บัดนี้เราเป็นศิษย์ของพระพุทธเจ้า เรามาอยู่ในที่แห่งนี้เพื่อศึกษาปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ พึงเป็นผู้สังวรระวังกาย วาจา ใจ พูดน้อย กินน้อย นอนน้อย ใช้เวลาปฏิบัติให้มาก และพึงรักษาศีลดังต่อไปนี้ โดยเคร่งครัด
ความผิดร้ายแรง
ผู้ละเมิดกระทำความผิดดังนี้ ต้องออกจากสวนธรรมฯ
- เสพเมถุน
- ลักขโมย
- วิวาทกันจนถึงขั้นทำร้ายร่างกาย
ความผิดเบา
ผู้ละเมิดกระทำความผิดดังนี้ ต้องสำนึกผิดต่อท่านอาจารย์ และรับการพิจารณาโทษตามความเหมาะสม
- ไม่ปฏิบัติตามระเบียบและข้อปฏิบัติของสวนธรรมฯ อันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหาย เดือดร้อน วุ่นวายแก่ผู้ร่วมปฏิบัติธรรม
- ว่ายาก สอนยาก ดื้อรั้น เพื่อนผู้ร่วมปฏิบัติธรรม ห้ามไม่ฟัง
- โกรธเคืองผู้อื่น แกล้งทำเรื่องกล่าวหา ให้ร้าย หรือ ยุยงให้เกิดความแตกแยก
- พูดปด พูดหยาบคาย พูดส่อเสียด พูดด่ากัน
- ไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย เกียจคร้านการงาน กินแรงผู้อื่นเป็นประจำ
- ไม่ประพฤติพรหมจรรย์
- เล่นการพนัน
- ดื่มสุรา หรือ ของมึนเมา
- แกล้งฆ่าสัตว์โดยเจตนา
- ดูหนัง ฟังเพลง หรือ ร้องรำทำเพลง อันเป็นข้าศึกต่อกุศล
- นอนบนที่นอนสูง ที่นอนใหญ่
- ตกแต่ง เสริมสวยด้วยเครื่องสำอาง
- ใช้ของส่วนกลางแล้วไม่เก็บที่
- ส่งเสียงดังรบกวนความสงบของสถานที่
มารยาทขณะที่อยู่ในสวนธรรมฯ
- ควรสำรวมระวังตนอยู่ตลอดเวลา ไม่ควรคลุกคลี พูดคุย หยอกล้อ หรือส่งเสียงดัง
- ควรสำรวมกิริยาในสถานที่สาธารณะที่ผู้คนผ่านไปมาอยู่เป็นประจำ เช่น ศาลาธรรม ลานธรรม แคนทีน ฯลฯ ไม่ควรแสดงกิริยาที่ไม่เหมาะสมกับนักปฏิบัติ เช่น นอน ร้องรำทำเพลง ทะเลาะโต้เถียงกัน ฯลฯ
- ในเวลารับประทานอาหาร หรือ ดื่มน้ำปานะ หรือ ในเวลาพัก ควรดำรงตนอยู่ด้วยความสำรวม อย่าส่งเสียงดัง กรี๊ดกร๊าด หรือหัวเราะเสียงดังจนเกินเหตุ
- ควรมีสติสำรวมระวังให้มาก พยายามอย่าให้เกิดเสียงดัง ในขณะเลื่อนเก็บเก้าอี้, เก็บจานชาม, เปิด/ปิดประตู หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
- ในขณะฟังธรรม หรือปฎิบัติธรรมร่วมกัน ควรสำรวมตนด้วยความเคารพ
- ไม่ควรนั่งชันเข่า นั่งกอดเข่า
- ไม่ควรเหยียดขา เหยียดแขน หรือทำท่าทางประหลาดๆ อันไม่เหมาะสม
- ไม่ควรทำกิริยาหรือทำเสียงรบกวนผู้อื่น เช่น ขยับไปขยับมา ลุกๆนั่งๆ พัด เรอ ฯลฯ
- ไม่ควรว่ากล่าวตักเตือนกันเอง ยกเว้นได้ปวารณากันไว้เป็นการส่วนตัว แต่ต้องดูความเหมาะสม
- ถ้าไม่มีความจำเป็น ไม่ควรเข้าไปวุ่นวายในห้องครัว โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน สำหรับผู้ที่ช่วยงาน เช่น ล้างผัก ปอกผลไม้ ล้างจาน ฯลฯ ควรช่วยอยู่รอบนอก และควรกระทำด้วยความสำรวม ไม่พูดคุย หรือส่งเสียงดัง แต่ให้เฝ้าระวังรักษาใจตนอยู่เสมอ
- เวลาเดินสวนกันตามทางเดิน ควรแสดงความเคารพต่อกันและกัน หยุดให้ผู้ที่มีศีลหรืออาวุโสกว่า เดินไปก่อน
ทั้งนี้ ท่านอาจารย์ได้มอบหมายให้ แม่ชีรับผิดชอบในการแนะนำตักเตือนผู้เข้าปฏิบัติธรรมได้ ในกรณีที่เห็นว่ามีการปฎิบัติตนไม่เหมาะสม
มารยาทต่อท่านอาจารย์
- พึงนุ่งห่มแต่งกายให้เรียบร้อย
- พึงพูดจาด้วย วาจาที่สุภาพ และเคารพ
- ไม่ส่งเสียงดังเกินงาม
- ไม่เจ้ากี้เจ้าการ กำกับผู้อื่นในการจัดทำอาหารให้ท่านอาจารย์
- ไม่รบกวนเวลาท่านโดยไม่จำเป็น
มารยาทในการรับประทานอาหาร
- เราจะรับประทานอาหารด้วยความเคารพ
- เราจะรับอาหารโดยพอสมควร
- เราจะไม่ละโมบ ในการรับประทาน
- เราจะไม่วุ่นวาย มากเรื่อง ในเรื่องอาหาร
- เราจะไม่ดูจานผู้อื่น ด้วยคิดจะเพ่งโทษ
- เราจะไม่ทำคำข้าวให้ใหญ่นัก
- เราจะทำคำข้าวให้กลมกล่อม
- เมื่อข้าวยังไม่ถึงปาก เราจะไม่อ้าปากไว้ท่า
- เมื่อรับประทานอยู่ เราจะไม่เอานิ้วสอดเข้าปาก
- เมื่ออาหารอยู่ในปาก เราจะไม่พูด
- เราจะไม่รับประทานจนกระพุ้งแก้มตุ่ย
- เราจะไม่รับประทานหกเรี่ยราด
- เราจะไม่แลบลิ้น
- เราจะไม่รับประทานเสียงดัง และไม่ควรให้ช้อนครูดชามจนเกิดเสียงดัง
- เราจะไม่เลียมือ หรือ ริมฝีปาก
- เราจะไม่เอามือเปื้อนจับภาชนะน้ำ