การใช้ความเจ็บป่วยเป็นหนทางสู่ความพ้นทุกข์

คนเรายามเมื่อเจ็บป่วย ต้องหัดพิจารณาให้บ่อยๆ พิจารณาในช่วงที่เจ็บป่วยนี่ล่ะ ให้เห็นแจ้งให้ได้ว่า

ร่างกายมันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราควบคุมเขาไม่ได้ไปทุกเรื่อง บทเขาจะเจ็บจะป่วย มันก็มีกระแสเหตุปัจจัยของเขา เราเป็นเพียงเหตุปัจจัยอันเล็กๆของเขาเท่านั้น

ให้มองว่า เขาเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของเรา ที่จะช่วยให้เราไปสู่จุดหมายในชีวิต โดยเฉพาะการดำเนินไปสู่ความพ้นทุกข์ และเข้าสู่ความเป็นประโยชน์สูงสุดแก่ผู้อื่นต่อไป หากไม่มีเขา เราก็ไม่อาจไปถึงจุดนั้นได้

จงปฏิบัติต่อเขาให้ดีที่สุด เหมือนเราทำให้กับบุคคลที่เรารักที่มีบุญคุณกับเรา

ยามเมื่อเขาเจ็บป่วย จงวางใจเฉย ด้วยการยอมรับในความเป็นธรรมดาอย่างนั้นเองของทุกๆร่างกายที่จะต้องเป็นเช่นนั้น อย่าปล่อยใจปรุงแต่งไปในอนาคตมากมายด้วยความกลัวหรืออยากให้มันหาย

แต่โดยภายนอกก็เยียวยาเขาตามเหตุปัจจัย โดยอาศัยคำแนะนำของผู้รู้ เยียวยารักษาเขาเพราะเขาคือเพื่อนผู้มีคุณต่อเรา ทำเพื่อเขา ไม่ใช่เพื่อเรา โดยไม่ต้องคาดหวังในผล

แท้จริง หากเรามองเห็น คนเราไม่ได้ทุกข์เพราะความเจ็บป่วย หรือ ความเจ็บปวดหรอก ความเจ็บป่วยเป็นเพียงความรู้สึกที่เรารับรู้ได้ตามธรรมชาติปกติเท่านั้น เหมือนกับสายลมแสงแดด ฯลฯ

แต่คนเราทุกข์เพราะปล่อยใจ ขาดสติ เอาอดีตมาปรุงอนาคตจนวุ่นวายสับสน ยามเมื่อรับรู้ความรู้สึกหรือเรื่องราวนั้นเท่านั้น

ที่เป็นเช่นนั้น ก็เพราะ เรายังมีความหลงผิดอยู่ภายในเท่านั้นเอง

ดังนั้น จงเผชิญกับความเจ็บป่วย ด้วยสติปัญญา และเมตตาจิต ครั้งนึงที่เจ็บป่วย หากเราใช้มันถูก มันจะทำให้เราพัฒนาตนเองได้อย่างมากแบบก้าวกระโดดเลยทีเดียว

เมื่อพิจารณาได้อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ซึ่งหมายความว่า เราสามารถสงบเย็นไม่หวั่นไหวท่ามกลางความเจ็บป่วยได้แล้ว

ต่อไป(ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ละเอียดกว่ามาก)
เราต้องพิจารณาแยกแยะอาการเจ็บป่วยหรือความรู้สึกที่กำลังเกิดขึ้นในขณะที่เจ็บป่วยนั้น ซึ่งก็คือการรับรู้ความรู้สึกทางอายตนะนั้น ไม่ว่าจะเป็น รูป กลิ่น โผฐัพพะ……ออกเป็นขันธ์

หมายความว่าต้องเห็นมันตามสภาพความเป็นจริงที่กำลังปรากฏ มองให้เห็นแจ้งด้วยปัญญาว่าความรู้สึกที่ปรากฏนั้น แท้จริงเป็นเพียงกลุ่มก้อนของขันธ์อย่างไร

เมื่อเห็นเช่นนั้นได้อย่างตั้งมั่น (เพราะมีสติ สมาธิ ปัญญาที่แยบคายพอ) ก็พิจารณาต่อไปให้เห็นว่ามันว่างเปล่าจากความเป็นตัวตนใดๆทั้งสิ้น ซึ่งย่อมต้องอาศัยปัญญาในเรื่อง สัพเพ สังขารา สุญญตา ที่เราเคยพิจารณาอย่างดีมาก่อน หากไม่เคยพิจารณาเรื่องนี้มาเลย ก็ต้องกลับไปฝึกเสียก่อน

เมื่อเห็นได้เช่นนั้น จะปรากฏสภาพซ้อนกันอยู่ภายในคือ ความรู้สึกที่เคยรู้สึกนั้น กลับเป็นเพียงแค่ขันธ์ห้า และการปรากฏของขันธ์ทั้งห้านั้น คือความว่างจากตัวตนใดๆทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกนั้น หรือตัวขันธ์เองก็ตาม

เมื่อดำเนินถึงตรงนี้ ให้ย้อนดูที่จิตที่ไปรู้ปรากฏการณ์เหล่านี้ทั้งหมด จนเห็นแจ้งได้ว่า ทั้งหมดนั้นก็ล้วนปรากฎออกไปจากจิตนี่เอง และหากมีสติปัญญาที่แยบคายพอก็พิจารณาต่อไปให้เห็นว่า แท้จริงแล้ว มันไม่ได้มีปรากฏการณ์ที่แยกต่างจากจิต ทั้งจิตและปรากฏการณ์และความว่างล้วนเป็นสิ่งเดียวกัน

หากทำได้เช่นนี้ก็ให้ตั้งมั่นอยู่บนการเห็นแจ้งเช่นนั้น ซึ่งแน่นนอนว่าการจะตั้งมั่นได้เช่นนั้น มันไร้เจตนา ไม่ได้อาศัยการกระทำใดๆลงไป ซึ่งมันจะเป็นสิ่งที่เป็นไปเอง แต่มันจะเป็นไปได้เมื่อเหตุปัจจัยมันสมบูรณ์

แต่หากเรายังไม่สามารถเห็นได้ถึงที่สุด จะตั้งมั่นอยู่แค่บนการเห็นแจ้งว่า ปรากฏการณ์นั้นคือขันธ์ห้า และว่างเปล่าจากตัวตนใดๆ ไปก่อนก็ได้

อย่าลืมว่านี่เป็นเรื่องละเอียด ระดับจิต ระดับการรับรู้ภายใน มันจึงต้องเป็นการเห็นแจ้งตามเป็นจริง ซึ่งมิใช่การคิด ความคิดเป็นแค่องค์ประกอบนำ ที่จะพาเข้าไปถึง แต่เมื่อเข้าไปจะไม่เกี่ยวอะไรกับความคิดเลย ยิ่งการคิดยิ่งห่างออกมาไกล จะใช้ไม่ได้ในขั้นต่างๆที่กล่าวมานี้

นี่คือการพ้นจากความทุกข์อย่างสิ้นเชิง โดยอาศัยการเจ็บป่วย

ซึ่งการจะตั้งมั่นอยู่บนความรู้แจ้งภายในอันลึกซึ้งเช่นนั้นได้ ต้องอาศัยเหตุปัจจัยหลายอย่างที่เราต้องสร้างสม พอสรุปให้เข้าใจง่ายๆคือ

  • เธอต้องมีศรัทธาเชื่อมั่นในคุรุของเธออย่างแน่วแน่ ถึงขั้นอจลศรัทธา คือนำคำสอนด้านในของท่านมากพากเพียรปฏิบัติจนประสบผลกับตนอย่างแจ้งชัดสิ้นความสงสัยลังเล
  • เธอต้องมีความเพียร ในการเฝ้าดูตน แก้ไขข้อผิดพลาดภายนอกอันเป็นอารมณ์ระดับกลางและหยาบให้หมดไปได้
  • เธอต้องมีสติที่แยบคายถึงระดับแจ้งชัดในความอิสระเบาโปร่ง โล่งกว้างของจิต ได้อย่างชัดแจ้ง
  • เธอต้องมีสมาธิที่สามารถตั้งมั้นอยู่บนการไร้การกำหนด (non active meditation) ได้อย่างสบายๆ
  • เธอต้องมีปัญญาระดับภาวนามยปัญญาในเรื่องสุญญตาอันลุ่มลึก แจ้งชัดในปฏิจจสมุปบาท และ interdependence arising ว่าคือสุญญตา

ดังนั้น ขอฝากสิ่งนี้ไว้ให้พวกเธอจดจำกัน แล้วค่อยๆ นำไปปฏิบัติไปตามขั้นตอน ในอนาคต แม้อาจารย์ไม่อยู่ หากเธอมีความพากเพียรนำมันไปปฏิบัติ เธอย่อมพ้นทุกข์ได้ในที่สุด

Comments are closed