ดุลยภาพ

ชีวิตประกอบด้วยกายและจิต
เชื่อมต่อสิ่งแวดล้อมหรือสิ่งภายนอกคือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย
และให้ความหมายเติมคุณค่าโดยใจ

รูป คือ แสง สี และรูปทรง
เสียง คือ ความเงียบสงบ และเสียง
กลิ่น คือ อากาศ และกลิ่น
รส คือ อาหารและรสชาติ
สัมผัส คือ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง

ซึ่งทั้งหมด คือสิ่งปรุงแต่งร่างกายนี้
หากปรุงให้เสื่อม ท่านเรียกว่า อกุศล เป็น pollution
หากปรุงให้เจริญ ท่านเรียกว่า กุศล เป็น ประโยชน์ เป็น health

แต่ทั้งเสื่อมทั้งเจริญ ทั้งกุศลและอกุศล ก็ล้วนเป็นสิ่งปรุงแต่ง ว่างเปล่าจากตัวตน ยึดมั่นถือมั่นอะไรไม่ได้

ชีวิตที่ดีมีสุข คือชีวิตที่มีความสมดุล
สมดุลของกายและจิต
สมดุลระหว่างการสร้างและการสลาย
สมดุลระหว่าง anabolism และ catabolism
สมดุลระหว่างเข้าและออก
สมดุลระหว่าง reduction และ oxidation
จะเอาอย่างเดียว ข้างเดียว มันไม่มี และไม่ได้
เพราะมันจะเสียสมดุล ขาดดุลยภาพ

ไม่มีสิ่งใดที่มีค่าข้างเดียว
มีดีก็มีไม่ดี มีไม่ดีก็มีดี
มีคุณก็มีโทษ มีสิ่งเป็นประโยชน์ ก็มีสิ่งไม่เป็นประโยชน์

ทางสายกลาง เป็นทางแห่งสมดุล
เป็นดุลภาพตามธรรมชาติแห่งกระแสเหตุปัจจัย

สมดุลก็ไม่ได้แปลว่าเท่ากัน เข้าหนึ่ง ออกหนึ่ง สร้างหนึ่ง สลายหนึ่ง
แต่เป็นความสมดุลตามเหตุปัจจัย และtime place person ในขณะนั้น

ชีวิตจึงเป็นองค์รวมแห่งเหตุและปัจจัยอันหลาก
ไม่ใช่ปัจจัยเดี่ยวๆเอกเทศ หรือแค่อย่างสองอย่าง
แต่มันหมายรวมถึง สิ่งแวดล้อม กายทั้งหมดและจิตใจ
ที่รวมเรียกว่าปราณ หรือชี่ หรือพลังชีวิต

ที่สำคัญ ทุกอย่างต้องผ่านที่จิต
แม้สิ่งภายนอกดีเท่าไร กายดีอย่างไร แต่จิตใจไม่ดี มันก็สร้างทุกข์ก่อโทษได้ทั้งสิ้น

พระพุทธองค์ท่านจึงสอนให้
ละสิ่งที่เป็นทางเสื่อมทั้งปวง
เจริญสิ่งที่เป็นทางเจริญ
และก็ปล่อยวางทั้งหมด ทั้งสิ่งเสื่อม และสิ่งเจริญนั้น

ทางการแพทย์ ก็พบอย่างชัดแจ้งแล้วว่า
ความเครียด(ซึ่งก็คือผลของจิตที่หลงยึดมั่นถือมั่นนั่นล่ะ)
เป็นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรค เสริมสร้างโรค เปิดรับโรค และทำลายระบบต่างๆของร่างกาย

แล้วเราจะทำตัวกันอย่างไร?

เราก็ต้องศึกษาเรียนรู้ด้วยเหตุและผล ด้วยความแยบคาย ให้แจ้งชัดว่าสิ่งใดเป็นสิ่งเสื่อม สิ่งใดเป็นสิ่งเจริญ
เมื่อรู้แล้ว ก็พากเพียรปฏิบัติเพื่อละสิ่งเสื่อม เจริญสิ่งเจริญนั้นให้สำเร็จ
แล้วทั้งหมด ก็ต้องฝึกจิตของตน ไม่เข้าไปหลงยึดมั่นถือมั่นใดๆเด็ดขาด ทั้งสิ่งเสื่อมและสิ่งเจริญ และแม้แต่ร่างกายจิตใจของเรา
เพราะทั้งหมด มันไม่มีสิ่งใดเลยที่เป็นเรา เป็นของเรา หรือเป็นตัวตนที่แท้จริง

กระแสเหตุปัจจัยไหลเวียนอยู่ตลอดเวลา
คุณค่าความหมายทั้งหลายล้วนเกิดจากจิต
ต่อให้กายเป็นพิษขนาดไหน ก็เกิดจากใจของแต่ละคน

กายดีแต่ใจแย่ ทุกข์ก็ก่อเกิด
หากสิ่งแวดล้อมแย่ กายแย่ ใจแย่ นั่นยิ่งทุกข์สาหัส
แม้กายแย่ แต่ใจดี ก็ปราศจากทุกข์
ยิ่งถ้า กายดี ใจดี ชีวิตก็เป็นสุขสมบูรณ์

ขอฝากไว้สำหรับพวกเราทุกคน เพื่อนำไปปฏิบัติ

Comments are closed