ปรากฏการณ์ทั้งหลายล้วนเกิดจากเหตุและปัจจัย
เพราะเหตุปัจจัยอันหลากหลายประกอบกัน จึงเกิดปรากฏการณ์เช่นนั้น
มันมิได้มีคุณค่าหรือความหมายใดๆ ที่แท้จริง
นี่คือความหมายของคำว่า “ว่างเปล่าจากตัวตน”
การที่อะไรจะเป็นอย่างไร
ใครจะแสดงออกอย่างไร
มันก็ขึ้นอยู่กับเหตุและปัจจัยอันหลากหลายที่ไปประกอบนั้น
แต่มนุษย์ผู้รับรู้ กลับเอาอัตตาทิฐิอันคับแคบ ไปกำหนดกฎเกณฑ์ตีกรอบการรับรู้นั้น
สร้างความหมาย คุณค่า ความพอใจ ไม่พอใจ และความคิดเห็นต่าง ๆ ขึ้นมากมาย
ผลก็คือ ตนก็เกิดความหงุดหงิด ขัดเคือง หลงใหล ติดใจ ไปตามสิ่งที่ตนปรุงแต่งขึ้นเองทั้งสิ้น
ทั้งๆที่ปรากฏการณ์ก็ยังคงเป็นกระแสแห่งเหตุปัจจัยอันว่างเปล่าจากความเป็นตัวตนใด ๆ ของมันอย่างนั้น อยู่ตลอดเวลา
นี่คือเหตุแห่งทุกข์ ทุกข์เพราะไม่ยอมรับความจริงของสิ่งทั้งปวง
เพียงแต่เธอหัดเปิดใจ ยอมรับ ให้ความเคารพธรรมอันยิ่งใหญ่อันคือกระแสเหตุปัจจัย
หัดเคารพ ที่อะไรหรือใครจะเป็นอย่างไรก็ได้ ตามเหตุปัจจัยของเขา
เลิกเอาทิฐิอันคับแคบของเธอเอง ไปตีกรอบอิสรภาพตามธรรมชาติของกระแสเหตุปัจจัยของผู้อื่น
ปฏิบัติต่อทุกสิ่งทุกสรรพชีวิตด้วยความรัก ความเมตตา เห็นอกเห็นใจ และมุ่งมั่นปรารถนาให้เขามีความสุข แทนการจะเอาแต่ความคิดและทิฐิของตน
แล้วชีวิตของเธอจะทุกข์น้อยลง
Comments are closed