การละชั่วทำไมทำยากกว่าการทำดี?
สำหรับพวกเราแล้วอย่าได้ใช้คำว่า “ชั่ว” เลย มันดูรุนแรงไป
“ชั่ว” ขอให้หมายถึงสิ่งที่เลยอุปกิเลสขึ้นไปมากๆ ซึ่งคือการ เบียดเบียนผู้อื่นจนผิดศีล
แต่ปัญหาส่วนใหญ่ของพวกเรานั้น คือการกระทำไม่ดีผิดหลักธรรม ซึ่งสาเหตุหลักคือ เราไม่สามารถ เอาชนะอำนาจกิเลสในตัวเราได้
และอีกข้างหนึ่ง การทำดีของพวกเรา ส่วนใหญ่ก็ทำเพราะยึดติดในดีนั้น
ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ ต่างสะท้อนให้เห็นว่า พวกเราล้วนเดินไปตามอำนาจอัตตาตัวตนของเราทั้งสิ้น
ทำดีก็เพื่อส่งเสริมตัวตน มันจึงทำได้ง่าย
ละสิ่งไม่ดีทำได้ยาก ก็เพราะไม่อาจชนะอำนาจตัวตนของเราได้อีกเช่นกัน
ดังนั้น หากเราสามารถพิจารณาตรงลงไปเพื่อลดอัตตาตัวตนของเราได้ มันก็จะง่าย และเป็นการแก้ที่ต้นเหตุ เรียกว่า ยิงปืนนัดเดียว ได้นกสองตัว
แต่หากยังไม่สามารถทำได้ เราก็ต้องแยกจัดการเป็นสองมุม คือ
มุมหนึ่ง จัดการกับความไม่ดี และอีกมุมหนึ่ง ป้องกันการเกิดอัตตาตัวตน ยามเมื่อทำดี
ซึ่งการจัดการกับความไม่ดีนั้น เราทำได้ดังนี้คือ
- พิจารณาให้เห็นโทษของสิ่งนั้นอย่างแจ้งชัด จนจิตมันยอม มันกลัวหากจะทำไม่ดีเช่นนั้นอีก
- พิจารณาดูเหตุและปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดการกระทำไม่ดีนั้น แล้วพยายามกำจัดเหตุเหล่านั้นเสีย
- พิจารณาดูอาการนำและลีลาของมันตั้งแต่ต้นจนเกิดการทำไม่ดีเช่นนั้น
- นำปัญญาที่เกิดจากการพิจารณาทั้งหมดนั้น มาเป็น โปรแกรมสำหรับตั้งสติ เพื่อการตระหนักรู้เท่าทันและละวาง ยามเมื่อมันจะเกิดขึ้น
- ซึ่งแน่นอน เราต้องเฝ้าดูตัวเราเองอยู่เสมอ ยิ่งหากเราสามารถกันไม่ให้เหตุนำมันเกิดขึ้นได้ ก็ยิ่งง่าย เป็นการตัดก่อนเกิด
- หากยังพลาดท่าต่อมันอีก ก็ต้องพิจารณาให้มากขึ้น หารูรั่วของเรา แล้วพยายามอุดรูนั้นเสีย
ส่วนมุมที่สองนั้น หลักใหญ่ๆ คือ ยามเมื่อเราทำดี เราต้องละความยึดมั่น 3 อย่างคือ
- ยึดมั่นในสิ่งที่ทำว่าดี
- ยึดมั่นว่าเราเก่งเราดี
- ยึดมั่นว่าเราเป็นผู้ทำดีนั้น
ซึ่งวิธีการได้เคยพูดไปมากแล้ว จะไม่ขอกล่าวซ้ำตรงนี้
ให้ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ เรียกว่า การหมั่นมองตน แก้ไขตน เรียนรู้ตน ปรับปรุงตน ต่อไปมันก็จะไม่มียากไม่มีง่าย อะไรอีก
เจริญธรรม
อาจารย์หมอ
Comments are closed